ยอดขายแผ่นบลูเรย์และดีวีดี ไม่ใช่เหตุผลตรงๆ ที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะการผลิตอนิเมะเป็นการประสานงานหลายหน่วยงานด้วยกัน ฝั่งสตูดิโอผลิตในงบที่จัดสรรไว้ก้อนหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งไปบริหารงานกันภายในสตูดิโอ อย่าง จ้างอนิเมเตอร์เพิ่มและทีมงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าบริหารเงินส่วนนี้ไม่แย่เกินไป ไม่ควรจะขาดทุน หรือ ถ้างบน้อยเกินไป ฝั่งผู้กำกับ ควรปฏิเสธไม่รับงาน
ลองดูผังแบบง่ายๆ ส่วนที่วงไว้เป็นสตูดิโอส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับงานมาโดยตรง
เรื่องยอดขายแผ่นบลูเรย์และดีวีดี เป็น”เหตุผลอ้อมๆ” เพราะถือเป็นรายได้ทางหนึ่งทางสตูดิโอเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทุกวงการ ทั้งภาพยนตร์ เพลง เกม แน่นอนว่าถ้าขายดีหรืองานคุณภาพ โอกาสได้งานเพิ่มก็จะยิ่งมากขึ้น การจ้างคนก็ทำง่ายขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทไม่มีผลงานที่ขายได้เลยแบบต่อเนื่องหรือไม่มีงานสะดุดตาฝั่งโปรดิวเซอร์กับสปอนเซอร์ โอกาสไม่มีงานเข้ามา ทั้งที่ยังต้องรับภาระเลี้ยงดูพนักงาน โอกาสที่จะต้องปิดตัวก็สูง
กรณีสตูดิโอขาดทุนจริง สามารถไปรับงานช่วยบริษัทอื่นได้ ซึ่งไม่ต้องรับความเสี่ยง รอเวลาพร้อมผลิตอนิเมะเรื่องใหม่ อย่าง บริษัทใหญ่แบบ Gonzo ที่เคยมีปัญหาการเงินอย่างหนักแต่ได้บริษัทอื่นช่วยไว้ ช่วงหลังปี 2010 ถึงจะมีงานบ้างแต่ไม่เน้นปริมาณแบบเมื่อช่วงปี 2000
ความจริง ถ้าขาดทุนแบบไปไม่ไหวจริง หลายสตูดิโอจะปิดตัวไปแบบเงียบๆ ซึ่งมีนับสิบสตูดิโอที่ไม่มีผลงานใหม่ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ปิดตัวไปแบบไม่ตกเป็นข่าว หรืออาจเปลี่ยนบทบาทไปอยู่ฝ่าย Planing, Project ก็ได้
บางบริษัทที่มีข่าวจะปิดตัวหรือล้มละลาย ส่วนใหญ่ปัญหามาจากการบริหารงานภายในมากกว่า ลงทุนมากเกินไป ทำให้เกิดหนี้สินอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นข่าวขึ้นมา