ยอดขายแผ่นอนิเมะ รู้ไปทำไม ?

บ่อยครั้งผมพูดถึงเรื่องยอดขายบลูเรย์ ดีวีดี ใน Facebook ผม เพราะเป็น ปัจจัยหลักที่ทำให้มีภาคต่อได้และคนทั่วไปทราบได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ แต่จะมีหรือไม่ ก็อยู่ในดุลยพินิจของทางฝั่งโปรดักชั่นและปัญหาภายในที่ตามมา

ปัจจัยอื่น มีเฉพาะคนในที่รู้ ดังนั้นยอดขายจึงเป็นสิ่งเดียวที่มองเห็นได้จากคนทั่วไป ซึ่งมีองค์กรที่เก็บข้อมูลส่วนนี้อยู่ อย่าง Oricon ของประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ใช่ยอดที่ถูกต้องเพราะเก็บข้อมูลส่วนใหญ่จากร้านค้าที่ร่วมเป็นพันธมิตรเท่านั้น ถ้ามีการขายที่เลี่ยงบอกยอดจะไม่สามารถนับรวมได้

ยอดแค่ไหนถึงจะดี ? ยอดทีวีอนิเมะที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูง ประมาณจากชุดแรกจะอยู่ประมาณ 1 หมื่นชุดขึ้นไป ประมาณห้าพันชุดจะถือว่าค่อนข้างโอเค ในขณะที่น้อยกว่านั้นแล้วไม่ค่อยได้ทำต่อจะอยู่ที่ 2,300 ชุด ซึ่งเป็นตัวเลขมาตรฐานจากเรื่อง Gakuen Utopia Manabi Straight! (2007, Ufotable) ที่ถือว่าดีในยุคนั้น แต่ไม่ได้ทำภาคต่อ

ทั้งนี้ ตัวเลขอาจบอกอะไรไม่ได้ ยังต้องดูองค์ประกอบโดยรวม อย่าง จำนวนงานของสตูดิโอ แนวทางของฝั่งโปรดักชั่น และ ปัญหาภายในบริษัทที่ไม่อาจบอกได้ รวมถึงกระตุ้นยอดขายต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่าง ผลงานออริจินัลแบบ Guilty Crown (2011) ยอดเฉลี่ย 7,729 ชุด และได้รับความนิยม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ถ้ามองเรื่องอื่นของ Production I.G. อย่าง Kuroko no Basket (2012) เฉลี่ย 24,459 ชุด และแนวไซไฟหลายเรื่องที่แตะระดับหมื่นชุด บวกกับทุนสร้างที่น่าจะสูงกว่าอนิเมะทั่วไปในช่วงนั้น มุมมองของฝั่งโปรดิวเซอร์น่าจะเลือกลงทุนกับเรื่องอื่นมากกว่า (อีกเหตุผล อาจตั้งใจทำแค่ภาคเดียว)

สำหรับพวกอนิเมะจากมังงะ ส่วนใหญ่จะได้ทุนจากสปอนเซอร์รายใหญ่อยู่แล้ว ระดับพวกโฆษณาในรายการโชว์ใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น ทำให้สามารถผลิตต่อได้เรื่อยๆ

ข้อดีของยอดขายอีกอย่าง ทำให้รู้เทรนด์ในญี่ปุ่นและความนิยมในช่วงนั้น อย่าง กระแสโค้ดไอเทมในเกม, แนวไอดอลขายตั๋วคอนเสิร์ต, แนวจิ้น ชายxชาย – หญิงxหญิง, แนวกีฬา (กระแสโอลิมปิค 2020) และอื่นๆ

สิ่งที่อาจเข้าใจผิด

  • ไม่ได้วัดความล้มเหลวของอนิเมะบางเรื่อง เพราะบางเรื่องไม่เน้นยอดขาย ต้องการโฆษณาให้เป็นที่รู้จักมากกว่า แต่ถ้าขายดี ทางฝั่งโปรดิวเซอร์อยากให้ทำต่ออยู่แล้ว
  • ขายดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีภาคต่อได้ทันที อย่าง To aru Majutsu no Index ที่ต้องรอจนครบฉลองครบรอบ 10 ปี ถึงได้ทำภาค 3 และอีกหลายเรื่องที่เงียบไปเกิน 3 ปีกว่าจะมีภาคต่อ
  • ไม่ได้เป็นเหตุให้สตูดิโอปิดตัวโดยตรง เป็นเพียงเหตุผลทางอ้อม เพราะถือเป็นรายได้ทางหนึ่งทางสตูดิโอเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทุกวงการ แน่นอนว่าถ้าขายดีหรืองานคุณภาพ โอกาสได้งานเพิ่มก็จะยิ่งมากขึ้น การจ้างคนเพิ่มก็ทำง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณภาพงานต่ำ ไม่ต้องการให้มีการจ้างทีมงานก็จะตรงข้าม