ในญี่ปุ่น อนิเมะหลายเรื่องขายดีเพราะของแถม ? ปัจจุบันคงต้องบอกกลายเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว เพราะตัวเลือกในการใช้จ่ายมากขึ้นทุกปี ในขณะที่ราคาแผ่นมีขีดจำกัดที่ไม่สามารถลดลงได้ เรียกว่าเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายที่แพงกว่าแทบทุกอย่างก็ว่าได้
ราคากลางที่แพง ออกทีละชุด
หนึ่งในปัญหาหลักที่ทำไมแผ่นอนิเมะขายไม่ออก เพราะต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว ราคาแผ่นก็ราคากลางจัดว่าแพงกว่าสื่อทีวีอื่น ถ้าไปเทียบกับละครทีวีส่วนใหญ่ที่ออกมาจะราคาแพงกว่าหลายเท่า ทั้งที่หนึ่งแผ่นมีแค่ไม่กี่นาที ยิ่งภาพยนตร์ หรือ อนิเมะชั่นมูฟวี่แบบตอนเดียวจบ ยิ่งถูกกว่าหลายเท่า
ถ้าพูดให้ภาพ ซื้อฟิกเกอร์ราคาเป็นพัน ก็ยังแค่เศษเงิน ของอนิเมะ 12-13 ตอน 1 เรื่อง
ที่สำคัญ รูปแบบการวางจำหน่ายทีวีอนิเมะในญี่ปุ่นถือว่าค่อนข้างแปลกกว่าสื่อทีวีอื่น คือ ไม่ออกเป็นชุดเดียวจบ (มีแต่น้อยมาก) อนิเมะที่ฉายเป็นตอนกว่า 90% จะออกทีละ 2 – 3 ตอน, แต่ละชุดทิ้งเวลาออก 1 เดือน และถ้านับราคารวมกันจะแพงมากกว่าออกเป็น Box Set ซึ่งเหตุผลหลัก น่าจะกระตุ้นการซื้อให้เหมาะสมกับวัยรุ่นที่ยังไม่มีเงินเดือน หรือ คนวัยทำงานที่เงินเดือนไม่สูงมาก บางเรื่องถึงกับออก Vol.1 แค่ตอนเดียว (แบบภาพบน) เพื่อลดราคาลงกระตุ้นยอดขาย แต่ราคาจะเพิ่มในแผ่นต่อไปที่มี 2-3 ตอน
ความจริง การขายทีละแผ่น/เดือน ราคารวมออกมา แพงกว่าซื้อเป็น Box Set ทีเดียวจบเสมอ (อารมณ์คนซื้อเงินผ่อน กับ จ่ายสด บางคนก็ชอบผ่อน 6 เดือนแบบเสียดอกเบี้ย)
ถึงจะมีข้อดีในด้านการล่อซื้อ แต่ข้อเสียก็มี อย่างชาวเน็ตในญี่ปุ่นบางครั้งประชดกัน บลูเรย์ 1 แผ่นจุหนังได้หลายชั่วโมง (Single-layer จุได้ 25GB) ทำไมต้องมาซื้อทีละแผ่น และเวลาดูต้องเปลี่ยนแผ่นหลายรอบ ไม่ก็ต้องมาโหลดลงเครื่องเล่นบลูเรย์ดู 4-6 แผ่น
ยิ่งภาพยนตร์ซีรีส์ต่างประเทศบางเรื่อง ค่อนข้างถูกกว่ามาก เนื่องจากไม่ใช่ตลาดหลักและต้องการตีตลาดในญี่ปุ่น อาจเก็บได้หลายซีซั่น
หาดูง่ายขึ้น ปัญหาไม่ใหญ่ แต่ไม่เล็ก
ในญี่ปุ่น อนิเมะส่วนใหญ่ฉายทางโทรทัศน์ทางฟรีทีวีอยู่แล้ว มีรีรันหลายรอบผ่านหลายสถานี ถ้าเป็นพวกเคเบิลทีวีบางช่องเสียเงินนิดหน่อยก็มีแทบ 24 ชั่วโมง บางเรื่องมีผ่านเน็ตครบทุกตอน มีบริการตั้งเวลาอัดอนิเมะเรื่องที่ชอบแบบครบทุกตอน ใช้เงินเพียงนิดเดียวและไม่ผิดกฏหมาย ดังนั้น การซื้อแผ่นเพื่อสนับสนุนเรื่องที่ชอบ และซื้อมาสะสม
ลองนึกภาพ ถ้าในไทย อนิเมะทุกเรื่องมีฉายทางฟรีทีวี หรือ เคเบิลที่เสียเดือนละไม่กี่ร้อย แต่ดูได้ทุกเรื่อง คุณจะซื้ออนิเมะราคาเรื่องละเป็นหมื่นต่อ 1 เรื่อง, ส่วนใหญ่ยังไม่จบ เพื่ออะไร ? คนสนับสนุนคงคิดเป็นเสี้ยวเดียวของคนญี่ปุ่น
แม้ค่าครองชีพญี่ปุนสูง ก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อได้ทุกอย่างโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา งานพาร์ทไทมเฉลี่ยได้เป็น 1,000 เยนต่อชั่วโมง แต่เอาไปซื้ออนิเมะหลายเรื่องต่อปี คงไม่เหลือให้ใช้จ่ายอย่างอื่น
ถึงญี่ปุ่นจะมีค่านิยมสนับสนุนซื้อเรื่องที่ชอบ แต่ตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นทุกปี อนิเมะเรื่องเก่าที่มีภาคต่อกฌไม่จบ และเรื่องใหม่ที่ 12-13 ตอนจบ ที่ดูจนจบเนื้อเรื่องแทบไม่ไปไหน อีกทั้งพวก Box Set ออกมาซ้ำอีกรอบ หักหลังนักสะสม (เมื่อก่อน Box Set ออกครบรอบ 3 – 5 ปี เดี๋ยวนี้บางเรื่อง 1-2 ปี) สนับสนุนกันไม่ไหว ไม่แปลกที่ยอดขายจะดรอปลงเรื่อยๆ และส่งผลเสียกับธุรกิจอนิเมะโดยรวม ซึ่งยุคนี้ ยอดขายแผ่นสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอนิเมะรอบดึก
เพิ่มของแถม โดยไม่ขาดทุน
เมื่อลดไม่ได้ ยอดขายยังสำคัญ ก็หาบางอย่างมาทดแทน เพื่อเพิ่ม Value ให้กับสินค้า หลักการตลาดพื้นๆ ที่ใช้ได้ผล แต่ต้องคุ้มพอที่จะทำให้คนควักเงินจ่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย
ยกตัวอย่างตอน Symphogear Season 4 (2017) ยอดเพิ่มทันทีที่ประกาศว่ามีโค้ดสุ่มตั๋วคอนเสิร์ต จนยอดจองแผ่นแตะเป็นอันดับ 1 หลายสัปดาห์
ใครคิดว่าการเพิ่มของแถม จะทำให้ตัวบริษัทขาดทุน อาจต้องคิดใหม่ เพราะโมเดลธุรกิจพวกนี้ ทางฝั่งโปรดักชั่นและแพลนเนอร์ คำนวณไว้หมดแล้ว อย่างซีเรียลโค้ดสุ่มตั๋วคอนเสิร์ต ก็มีพวกของสินค้าหน้างานขายทำกำไรและพวกดีวีดีงานภายหลัง, ของแถมในเกม คำนวณความคุ้มไว้แล้ว
ปัจจุบันเรื่องตั๋วคอนเสิร์ต, ไอเทมโค้ด, ฟิกเกอร์ เป็นประเด็นใหม่ แต่ที่จริงเมื่อก่อนมีหลายอย่างที่กระตุ้นยอดขายและได้ผลดีมาก่อน
- ไลท์โนเวลตอนพิเศษที่มีเฉพาะคนซื้อแผ่น Overlord (ภาคแรก), Yahari Ore no Seishun Love Comedy wa Machigatteiru. (Oregairu) บางเรื่องแถมในทุกแผ่นบลูเรย์/ดีวีดี
- มังงะ Exclusive อย่าง ผ่าพิภพไททัน เล่ม 0 ที่ไม่เคยวางขายที่ไหนในช่วงนั้น กระตุ้นยอดขายแบบเห็นได้ชัดในเวลาไม่กี่วัน
หมายเหตุ: ของแถมพวกเล่มพิเศษบางมีแยกขายในบางประเทศ แต่บางอย่างในญี่ปุ่นไม่มีขายแยก
ถึงตรงนี้ น่าจะเห็นภาพว่า ทำไมบางเรื่องสนุก แต่ขายไม่ค่อยออก ซึ่งคนซื้อแผ่นปัจจุบันหลักๆ เพื่อสนับสนุนเจ้าของลิขสิทธิ์มากกว่าซื้อมาเก็บไว้ดู แต่ตัวเลือกที่มากขึ้นทำให้จะควักเงินก็ต้องมีอะไรกระตุ้นต่อมความอยากเสียเงินสักหน่อย ทั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวกับในไทย แต่เรื่องยอดขายเป็นตัวแปรใหญ่ในการผลิตภาคต่อ เลยเป็นประเด็นน่าสนใจสำหรับคออนิเมะอยู่