ยุคอนิเมะจากเกมมือถือ รายได้ก้อนโตแบบคาดไม่ถึง

ถ้าถามว่า ทำไมอนิเมะจากเกมมือถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอบว่า ขายไอเทมโค้ด น่าจะรู้กันอยู่แล้ว แต่นั่นแค่เหตุผลประกอบครับ เหตุผลหลักจริงๆ มีอีกอย่าง คือ ผลประกอบการที่หลายเกมดีมาก อาจเกินกว่าที่คุณคาดไว้เสียอีก ซึ่งบางคนไม่เคยเติมเลย ในขณะที่มีคนเติมจำนวนมากแบบไม่อั้น จนบางเกมทำเงินไประดับภาพยนตร์ตะวันตกฟอร์มยักษ์แบบเงียบๆ

ตัวเลขรายได้เกมมือถือที่ญี่ปุ่น เฉพาะเดือนธันวาคม 2017 (ที่มา: Otakomu, Appannie และ sensortower)

  • Monster Striker 15,867,737,201 เยน ประมาณ 4,567 ล้านบาท
  • Fate Grand Order (FGO) 9,813,174,480 เยน ประมาณ 2,824 ล้านบาท
  • Granblue Fantasy 2,689,458,689 เยน ประมาณ 774 ล้านบาท
  • Azur Lane 2,201,792,096 เยน ประมาณ 630 ล้านบท
  • Kirara Fantasia 228,642,478 เยน หรือ 65.7 ล้านบาท

หมายเหตุ:

  • Monster Strike มีฉายอนิเมะเน็ต 3 ซีซั่น (สองซีซั่นแรก 51 ตอน และ 23 ตอน) 8-10 นาทีต่อตอน ซีซั่น 3 ยังฉายต่อเนื่องถึงต้นปี 2018 เคยมีภาคฉายในโรงภาพยนตร์
  • Kirara Fantasia เพิ่งเปิดใหม่เดือนเดียว แต่มังงะหลายเรื่องในสำนักพิมพ์ได้เป็นอนิเมะเยอะขึ้นในช่วงปี 2017-2018 อาจมีคนมากขึ้นในปี 2018
  • Azur Lane เกมจีนประเภทเรือรบโมเอะ เปิดในญี่ปุ่น 3 เดือน และได้รับความนิยมมาก
  • ยอดแค่เดือนเดียว และยอดเดือน 12 น่าจะยังไม่รวมโปรโมชั่นเติมเงินต้อนรับปีใหม่ของบางเกม

อีกข่าวที่ชัดเจนช่วงปลายปี 2017 มี เกม FGO เคยทำกำไรให้โซนี่ร่วม 300 ล้านเหรียญ (เกือบหมื่นล้านบาท) เรียกว่า เยอะขนาดเอาเศษกำไรมาผลิตอนิเมะได้สบาย ทั้งนี้ก็แค่ช่องทางเดียว เพราะผลกำไรยังแบ่งกันหลายหน่วยงาน ส่งผลต่อ อีเวนต์ สินค้า และสื่ออื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่แปลกที่ปี 2017 – 2018 เริ่มเห็นอนิเมะในซีรีส์ Fate เยอะขึ้นมากและมาทุกช่องทาง ทั้งทีวี ฉายโรง และฉายผ่านเน็ต

หลายคนยังเข้าใจผิดเรื่องขั้นตอนการผลิตอนิเมะ ประมาณว่า “บริษัทเกมอยากผลิต ก็จ้างสตูดิโอผลิต” เข้าใจง่ายไปนะครับ ลองดู ผังโครงสร้าง คร่าวๆ ดู จะเห็นว่าแบ่งกันหลายหน่วยงานและครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้นพวกไอเทมโค้ด ยอดขายแผ่นอนิเมะ เรื่องเล็ก

ส่วนเหตุผลที่ต้องมีอนิเมะจากเกมมือถือ คือ ต้องการเพิ่มคนเล่นเกมให้มากขึ้นและส่งผลโดยรวมต่อธุรกิจ ซึ่งพวกการ์ดเกมเห็นชัดมาก อย่างพวกซีรีส์ Yu-Gi-Oh, Vanguard ที่ได้เป็นอนิเมะอยู่เรื่อยๆ

ทั้งนี้ เกมมือถือก็ไม่ได้กำไรทุกเกม อีกทั้งผลิตมากไปก็ไม่ได้เพิ่มยอดคนเสมอ ทำให้ยังมีขีดจำกัดในการผลิตอยู่บ้าง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะได้ดูแต่อนิเมะจากเกมมือถือกันจนเบื่อ เพียงแต่น่าจะมากขึ้นในปีที่ผ่านมา มองในมุมกลับ เรื่องจากมังงะและไลท์โนเวลหลายเรื่องก็เลือกผลิตเกมมือถือออกมาด้วย เอาใจแฟนเกมเรื่องนั้นๆ ซึ่งถ้าทำกำไรได้ดี การผลิตภาคต่อน่าจะเป็นไปได้มากขึ้น โดยไม่ต้องสนยอดขายที่ตกต่ำจากตัวเลือกที่มากขึ้นในแต่ละปี